วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555


Reviews : บ้านบาหลี

นานา สาระ๑๐๐๐
Reviews : บ้านบาหลี - ตกแต่งบ้าน - บ้านบาหลี
ทุกวันนี้บ้านบาหลีกำลังนิยมกันมาก ในหมู่คนไทย โครงการต่างๆก็นำบ้านแบบบาหลีมาเป็นจุดขาย พวกสปาต่างๆก็นิยมตกแต่งแบบบาหลี โดยเฉพาะรีสอร์ทริมทะเลทั้งหลาย ก็นิยมออกแบบให้เป็นบาหลี แม้แต่ร้านอาหารก็เป็นบาหลี ผมก็เลยเขียนเรื่องบ้านบาหลีให้อ่านกัน และดูบ้านบาหลีจริงๆของเขากัน ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร



บ้านของชาวบาหลีนั้น ต่างจากบ้านของเราหรือบ้านสมัยใหม่โดยทั่วไป ที่จะสร้างเป็นอาคารเดียว แต่จะมีห้องหรือตัวเรือนแยกกัน คล้ายเรือนไทยโบราณมากกว่า คือเป็นหลังเล็กๆรวมกลุ่มกัน เพราะการดำเนินวิถีชีวิตของพวกเขาจะนิยมใช้ศาลาโล่งหลายๆหลัง ที่รวมกลุ่มกันอยู่เป็นครอบครัว โดยมีแนวกำแพงสูง เป็นอาณาเขต







บ้านแบบบาหลีนั้น มีลักษณะเป็นแบบอาคารพื้นถิ่นของเขตร้อนชื้นทั่วไป และคล้ายกับกระท่อมชาวเกาะทั้งหลายในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ใช้วัสดุธรรมชาติหลากหลายมาก่อสร้าง เช่น ไม้ ไม้ไผ่ ไผ่สาน หิน หินภูเขาไฟ ดิน ใบจาก ใบอ้อย เป็นต้น การใช้วัสดุธรรมชาติต่างๆ จึงสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งลักษณะบ้านแบบนี้จะเป็นบ้านแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิมของที่นี่ (บรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวบาหลีนี่ก็เป็นญาติๆกับพวกอะบอริจินนี่เอง เพราะถ้าดูจากสภาพภูมิศาสตร์จะเห็นว่า บาหลี ที่เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย ประเทศพันเกาะนั้น พาดยาวจากแหลมมลายูไปเกือบจรดทวีปออสเตรเลียเลย) สถาปนิกชาวบาหลีโบราณก็เป็นชาวบ้านหรือชาวนานั่นเอง แต่จะเป็นช่างและผู้ศึกษาตำราโบราณด้วย นอกจากบ้านแล้ว ชาวบาหลีจะปลูกต้นไผ่ไว้ที่หลังบ้านเขาทุกบ้าน เพราะเขามักจะตัดมาใช้สร้างศาลาหรือศาลไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ในการทำพิธีต่างๆ ตลอดทั้งปี การออกแบบนอกจากลักษณะอาคารแบบร้อนชื้นแล้วยังมีการใช้ศาสตร์การพยากรณ์แบบโบราณเข้าร่วมด้วย ซึ่งพบได้จากตำราโบราณที่เขียนบนใบลาน เช่นการวางตำแหน่งห้องต่างๆ ตำแหน่งครัวเป็นต้น มีบ่อยครั้งที่ผู้อยู่อาศัย ประสบเคราะห์หรือโชคร้าย หมอผีก็จะเข้าตรวจสอบตัวบ้านก่อนเลยว่า มีการสร้างอะไรที่ผิดไปจากหลักเกณฑ์โบราณหรือไม่









ลักษณะสถาปัตยกรรมอีกอย่างที่มีอิทธิพลและเอกลักษณ์เด่นชัดต่อสถาปัตยกรรมแบบบาหลี คือ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบฮินดูของอินเดีย ที่ได้ถ่ายทอดเข้าสู่ชวามากว่าพันปีแล้ว เป็นสถาปัตยกรรมที่เริ่มจากอาคารทางด้านศาสนาก่อน แล้วจึงค่อยๆพัฒนาสู่อาคารอื่นๆและที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ส่วนการวางผังอาคารนั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ สถาปัตยกรรมของชาวโพลีเนเซียน คือหมู่เกาะทั้งหลายในมหาสมุทรแปซิฟิกนั่นเอง โดยมีการแบ่งพื้นที่ต่างๆ ของศาสนสถาน ออกจากกลุ่มที่พักอาศัย โดยกำแพงหิน คล้ายๆกับที่ เกาะฮาวาย และตาฮิติ ส่วนใจกลางหมู่บ้านก็จะมีหอกลองสำหรับตีเรียกชาวบ้านมาประชุมกัน หรือทำพิธีต่างๆ ซึ่งก็มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่สถาปัตยกรรมบาหลียุคใหม่ได้พัฒนาไปใช้







จุดเด่นของบ้านแบบบาหลีก็คือ การล้อเลียนหรือจำลองธรรมชาติรอบๆตัวมาใช้ ทำให้บ้านกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย มักนิยมทำอาคารโล่ง การใช้วัสดุธรรมชาติที่เป็นสีเอิร์ทโทน การทำหลังคาจากแบบหนา และหลังคากระเบื้องดินเผาธรรมชาติ โดยไม่มีฝ้าเพดาน การเน้นประตูทางเข้าที่วิจิตรพิสดาร และที่คนไทยชมชอบหรือปลื้มกันมาก ก็คือการเปิดลานโล่งกลางบ้าน ที่มีบ่อน้ำเล็กๆเป็นจุดสนใจ







อย่างไรก็ตามในยุคสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ บ้านแบบบาหลีก็ไม่อาจหนีการเปลี่ยนแปลง หรืออิทธิพลจากโลกภายนอกได้ โดยเฉพาะจากทางตะวันตก เช่นโคโลเนียลสไตล์ หรือรูปแบบคาลิเฟอร์เนียนสไตล์ ก็มีเข้ามาผสม รวมถึงวัสดุก่อสร้างอย่างเช่นคอนกรีตเสริมเหล็กก็มีส่วนในความเปลี่ยนแปลงไป ของสถาปัตยกรรมของบาหลี จนเป็นรูปแบบสมัยใหม่เลยก็มีให้เห็น แต่อย่างน้อยกฎหรือเทศบัญญัติหนึ่งของบาหลี ที่มีมานานแล้วแต่ไม่ล้าสมัย กลับเป็นตัวควบคุมสภาพแวดล้อมของบาหลีได้อย่างดียิ่ง จนหลายประเทศต้องเอาตามอย่าง คือการกำหนดความสูงของอาคาร กฏควบคุมความสูงแบบโบราณที่ว่าคือ อาคารที่ปลูกสร้างต้องไม่สูงเกินยอดมะพร้าว ทำให้สภาพแวดล้อมของเกาะบาหลีในปัจจุบัน ยังคงให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติที่สวยงามได้อย่างเต็มที่ ไม่มีอาคารสูงไปบดบังทำลาย อย่างเช่นในเมืองไทย แม้จะพยายามเอากฎเกณฑ์นี้มาใช้ ก็สายเกินแก้ แถมยังมีข้อยกเว้นต่างๆนานา และการหลีกเลี่ยงกฎหมายก็เป็นของง่ายของคนไทยเสียด้วย (วกมาจนได้)









อย่างไรก็ตาม ที่เอาเรื่องบ้านบาหลีมาลงนี่ ผมไม่ได้ต้องการกระพือ กระแสความนิยมของบ้านบาหลีขึ้นไปอีก เพียงแต่อยากให้รู้ปรัชญาในการออกแบบของเขาและการใช้วัสดุธรรมชาติมาก่อสร้างโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งของเขาก็ดีแบบของเขา แต่ของเราก็ไม่ใช่จะด้อยกว่าของเขา ข้อคิดคือจะทำหรือรักษาแบบของเราอย่างไร ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยไว้ได้ และพัฒนาบ้านไทยของเราให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยได้ทั้งความเป็นไทยและให้ความสะดวกสบายตามวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน 


ที่มาhttp://www.decorreport.com/a343962-reviews-%E0%B8%9A-%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น