วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555


ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ หรือสุสานแห่งความตายของประชาชน?!?

ทัชมาฮาล ตำนานความรักอันยาวนาน เนื่องจากใกล้วันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักทุกทีแล้ว เราจึงนำ ทัชมาฮาล มาให้ท่านรู้จักกันในสองมุมมอง เนื่องจากมีผู้กล่าวว่า “ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ หรือสุสานแห่งความตายของประชาชน?!? เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้ฟังพระผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ”อนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาล ว่าแท้จริงแล้วอนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความรักหรือความตายกันแน่?
ทัชมาฮาล” 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก แห่งประเทศอินเดีย“ สถานที่นี้คนทั่วไปต่างรู้กันว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ เกิดจากความรักที่ไม่ลืมหูลืมตาและความเศร้าที่สุดแสนจะคณานาของจักรพรรดิชาร์จาฮาน กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โมกุล(mughal empire india) ที่ปกครองอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 16 จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 พระเจ้าชาร์จาฮาน ได้พบกับบุตรสาว อรชุมันท์ พานุ เพคุม บุตรสาวของรัฐมนตรีเมื่ออายุ 14 พรรษา และหลงรักนางตั้งแต่แรกเจอต่อมาในอีก 5 ปี พระองค์และอรชุมันท์ พานุ เพคุมก็ได้อภิเสกสมรสกันในปี พ.ศ.2155 นับตั้งแต่นั้นมาทั้ง 2 ก็ไม่เคยอยู่ห่างกันอีกเลย
ตลอดระยะที่อยู่ร่วมกันพระมเหสี หรือนามที่พระเจ้าชาร์จาฮาน ตั้งให้ว่า “มุมตัช มาฮาล” อันแปลว่าอัญมณีแห่งราชวัง เป็นภรรยาที่สุดแสนประเสริฐ ทั้งติดตามพระเจ้าชาร์จาฮานไปออกรบ ช่วยงานราชการ คอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจ อีกทั้งยังมีความเมตตาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเสมอ ทั้งหมดนั้นทำให้กษัตริย์ชาร์จาฮานทรงประทับใจและรักพระมเหสีอย่างที่สุด
แต่เมื่อครองคู่กันมาเป็นเวลา 18 ปี มุมตัช มาฮาลก็ได้ให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 แต่หลังจากให้กำเนิดพระธิดาพระนางตกเลือดมาก อยู่ได้เพียงไม่นานพระนางก็สิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของพระเจ้าชาร์จาฮาน ซึ่งการสิ้นพระชนม์นี้นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจแก่พระเจ้าชาร์จาฮานอย่างมากมายมหาศาล พระองค์ทรงหมกมุ่นอยู่ในความทุกข์เศร้าโศกเสียใจตลอดเวลาไม่ทรงยิ้มไม่ทรงหัวเราะใดๆ ปล่อยพระวรกายจนผมที่ดำกลายเป็นสีขาวทั้งศีรษะ ในทุกวันพระองค์จะทรงนุ่งขาวห่มขาวไปนั่งรำพันถึงพระมเหสีของพระองค์ข้างหลุมศพอย่างกับคนเสียสติ
ด้วยความเศร้าโศกอย่างหาที่สุดไม่ได้พระองค์จึงทรงสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์กับพระมเหสี โดยทรงเลือกทำเลที่ดีที่สุดบริเวณริมโค้งแม่น้ำยมุนาเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์แห่งรักนี้ และพระองค์ก็ทรงทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการวางแผนเขียนแปลนก่อสร้างด้วยพระองค์เอง และก็ได้ทรงจ้างสถาปนิกและช่างชาวอาหรับที่มีฝีมือมากมายเพื่อระดมสติปัญญาและกำลังในการก่อสร้างอนุสรณ์แห่งนี้ให้สำเร็จ
ซุ้มประตูทางเข้าทัชมาฮาล
ซุ้มประตูทางเข้าทัชมาฮาล
การสร้างครั้งนี้ใช้แรงงานผู้คนมากมายกว่า 20,000 คน ราชสมบัติส่วนใหญ่ที่มีได้สูญเสียไปกับการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์ กินเวลานานถึง 22 ปี อนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ก็เสร็จสมบูรณ์อย่างงดงาม และพระองค์ก็ทรงให้ชื่อว่า “ทัชมาฮาล” (taj mahal)
 หลายปีต่อมาหลังจากสร้างอนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาลเสร็จสิ้น ได้เกิดศึกชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระโอรสของพระองค์เอง ในระหว่างนั้นเจ้าชายโอรังเซบ (aurangzeb) พระโอรสของพระองค์ก็ได้จับพระเจ้าชาร์จาฮาน ไปกักขังอยู่ที่ป้อมเมืองอัคราซึ่งอยูฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับทัชมาฮาล ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์เสียสติ และขึ้นครองบัลลังก์แทน
ระหว่างที่ถูกกักขังพระองค์ทรงมองทัชมาฮาลและรำพันถึงพระมเหสีของพระองค์ตลอด 8 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ.1666 ในวันสุดท้ายก่อนสวรรคตพระเจ้าชาร์จาฮานใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล หลังจากนั้นพระโอรสก็ได้นำพระศพของพระองค์มาฝั่งไว้เคียงข้างพระมเหสีที่พระองค์รักใคร่มิเคยลืมเลือน

แต่ก่อนที่พระเจ้าชาร์จาฮานจะสิ้ นพระองค์มีพระราชดำริจะสร้างสุสานของพระองค์เองด้วยหินอ่อนสีดำที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยมุนา พระราชโอรสของพระองค์ทราบก็ทรงกลัวกับค่าใช้จ่ายอันมหาศาลจึงทำการยึดบัลลังก์พร้อมกักขังพระเจ้าชาร์จาฮานไว้ที่ป้อมอักรา
เรื่องราวที่ฉันเล่ามานั้นเป็นหนึ่งในหลายตำนานของทัชมาฮาล ซึ่งนอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าว่า หลังจากที่สร้างทัชมาฮาลเสร็จสิ้นแล้ว พระเจ้าชาร์จาฮานทรงหลงใหลในความงามของทัชมาฮาลและเกรงว่าเหล่าสถาปิกผู้ร่วมออกแบบและผู้สร้างทั้งหลายจะไปออกแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามเช่นนี้อีก จึงได้ทรงสั่งประหาร หรือตัดมือ ตัดขา ควักลูกตา ช่างทุกคนไม่ให้มีโอกาสได้สร้างผลงานที่สวยเท่านี้อีก
นี่คืออนุสรณ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ หรืออนุสรณ์แห่งความตายของประชาชนมากมายที่ต้องล้มตายเพื่อบูชาความรักของตนเองเพียงคนเดียว  แต่หากไม่ได้ความรักอันหน้ามืดตามัวของพระเจ้าชาร์จาฮานก็คงไม่มีทัชมาฮาล มรดกโลกที่สร้างสรรค์จากฝีมือมนุษย์ที่สวยงาม ยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ของโลกให้เราได้โจษขานกันเช่นนี้
นับเป็นความขัดแย้ง ทางความรู้สึกของ ทัชมาฮาล ที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองมุมไหน หรือมองทั้ง 2 มุม แล้วนำมาเป็นอุทาหรณ์
แต่! เมื่อมีทัชมาฮาลแล้ว เราก็มาว่ากันต่อ ถึงเรื่องความสวยงามของสถาปัตยกรรมอันเลื่องชื่อบรรลือโลก ซึ่งนอกจากพระเจ้าชาร์จาฮานจะออกแบบเลือกแบบที่ดีที่สุดสวยที่สุดแล้ว ยังเลือกวัสดุที่ใช้อย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทุกสิ่งอย่างถูกออกแบบมาอย่างสมมาตรลงตัว ตั้งแต่ทางเดินนำสู่ตัวอาคารจะเริ่มต้นด้วยสวนขนาดใหญ่ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วนที่สมมาตรโดยใช้ธารน้ำ 2 สายที่ก่อสร้างด้วยหินอ่อนเป็นตัวแบ่ง ในธารน้ำมีน้ำพุเป็นระยะ ตลอดแนวธารน้ำยังมีต้นสนปลูกเป็นแนวเรียงรายสวยงามนำสายตาไปสู่ตัวอาคาร
ตัวอาคารล้อมรอบด้วยหออะซานทั้ง 4 ด้าน ทางเข้าด้านหน้าของอาคารตรงกลางเป็นหลังคาโค้งขนาดใหญ่ขนาบด้วยหลังคาโค้งขนาดเล็กทั้งสองด้าน และส่วนที่เด่นที่สุดของทัชมาฮาลก็คืออาคารหินอ่อนสีขาวนวลตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านบนของอาคารประดับด้วยโดมขนาดมหึมา เส้นผ่านศูนย์กลาง 58 ฟุต ยอดโดมสูง 213 ฟุต ภายในห้องโถงกลางที่ใหญ่ที่สุดใต้โดมยักษ์แห่งนี้เอง มีแท่นวางพระศพที่ทำด้วยหินอ่อนของทั้ง 2 พระองค์วางเคียงคู่กัน แต่พระศพจริงๆนั้นหาได้อยุ่ในหีบไม่ แต่ถูกฝังอยู่ภายในอุโมงค์ใต้ดินตรงกับที่วางหีบศพนั่นเอง
สำหรับการตกแต่งและลวดลายจะเป็นการตกแต่งแบบอิสลาม หลักๆแล้วจะมีลายเส้นอักษร ซึ่งสลักเป็นโองการต่างๆจากคำภีร์อัลกุรอาน 22 ซูรอฮ และยังมีรูปทรงเลขาคณิตและลวดลายดอกไม้ ทั้งยังมีการฝังพลอยที่มีค่าบนผนังด้วย
ชมทัชมาฮาลพร้อมฟังเรื่องราวอนุาภาพแห่งความรักอันยิ่งใหญ่แล้ว ต้องไม่พลาดที่จะไปต่อยัง “ป้อมอัครา” (agrs fort) ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังพระเจ้าชาร์จาฮานจนสิ้นพระชนม์ ป้อมอักราแห่งนี้ก็มีความสวยงามยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน และก็ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งด้วย
ป้อมอักรา
Agra Cantt Station…อักกะรา…
ป้อมอัคราหรือพระราชวังอักรา ซึ่งมีป้อมล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ได้ถูกบันทึก ว่ามีมาตั้งแต่ ค.ศ.1080 แล้ว ต่อมากษัตริย์อักบาร์ได้ทำการปฏิสังขรณ์และตกแต่งใหม่ด้วยหินทรายและศิลาสีแดงในปี ค.ศ.1565 ลักษณะของป้อมเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่โค้งแม่น้ำยมุนา ซึ่งถือเป็นมุมที่มองเห็นทัชมาฮาลได้สวยที่สุดก็ว่าได้
 หากมองจากด้านนอกกำแพงของป้อมดูสูงใหญ่และแข็งแรง ซึ่งเป็นกำแพง 2 ชั้นระหว่างกำแพงมีคูน้ำคั่นกลาง มีสะพานเชื่อมต่อสามารถเดินชมได้รอบป้อม ภายในกำแพงสูงใหญ่ราว 70 ฟุตนั้นแบ่งพระราชวังและตำหนักอันงดงาม ในอดีตเคยเป็นที่ทำการของทหาร พระราชฐานชั้นนอกสำหรับออกว่าราชการ และพระราชฐานชั้นในเป็นที่ประทับของกษัตริย์และเหล่าสนม
อาคารส่วนใหญที่ถูกสร้างในสมัยกษัตริย์อักบาร์ ผู้ซึ่งสถาปนาเมืองอักราเป็นราชธานี ศิลปะของป้อมอัคราก็สวยงามละเอียดประณีตผสมกันทั้งแบบพุทธแบบฮินดูแบบเปอร์เซีย ส่วนพระตำหนักของพระเจ้าชาร์จาฮานนั้นสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลังอยู่ด้านหน้าของแม่น้ำยมุนา เพื่อที่จะได้สามารถมองเห็นทัชมาฮาลได้ตลอดเวลาตามตำนานที่เล่ามา
ลวดลายบนหินอ่อนภายในทัชมาฮาล
การได้เข้าไปเดินใน ทัชมาฮาล มีพลังอบอวลอย่างบอกไม่ถูก เหมือนที่นี่ถูกสร้างขึ้นด้วยความรัก ลวดลายที่เขียนบนหินอ่อนสีขาว เหมือนรอยประทับแห่งความรักที่ไม่มีวันตาย ด้านหลังทัชมาฮาล เป็นพระราชวังเก่าของราชวงศ์โมกุล ตอนนั่งหลบแดดอยู่หลังทัชมาฮาล จะมองเห็นพระราชวังนี้อยู่ทางด้านขวา และ แม่น้ำยมุนาอยู่ตรงหน้า
อิตมัด อุด ดุลลาห์ หรือBaby Taj Mahal
 อิต-มัด อุด ดุลลาห์ (Itimad-ud-Daulah) สุสานหินอ่อนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำยมุนา อยู่ห่างจากป้อมปราการอักรา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 5 กิโลเมตร แม้จะได้สมญานามตามหลัง ทัชมาฮาลว่า “เบบี้ทัช” แต่สุสานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นก่อน ทัชมาฮาล ถึง 20 ปี โดยราชินีในกษัตริย์ จาฮันกิร์ เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อเป็นสุสานรำลึกถึงบิดาของพระนาง เทคนิคการตกแต่งภายนอก-ภายใน ด้วยการใช้หินสีต่างๆ ฝังลงในเนื้อหินอ่ิอนถูกใช้ในการสร้างที่นี่เป็นแห่งแรก ก่อนที่พระเจ้าชาร์จาฮานจะนำเทคนิคนี้ไปใช้สร้างทัชมาฮาลในภายหลัง
สุดท้ายสไตล์คนไทย ต้องไปตลาดถึงไม่ได้ซื้ออะไร ก็ขอให้ได้ไปเดินเพลินๆตา กิจกรรมสนุกๆคือ การต่อรองราคากับแขก มันส์…อย่าบอกใคร ต่อไปเลย 70-80% ไม่ต้องกลัวแขกด่า ถ้าขายได้เขาก็ขาย ขายไม่ได้ก็บ๊าย บายกันไป คนขับสามล้อใจดีแนะนำให้กลับมาดูพระอาทิตย์ตกเป็นการบอกลาทัช มาฮาล ระหว่างทางเห็นสาวภารตะนุ่งส่าหรี โหนรถสามล้อ ขณะที่ผู้ชายนั่งอย่างสบายอารมณ์ในรถ
นี่ล่ะ…อินเดียของจริง!
ลาก่อน “ทัชมาฮาล” อนุสรณ์แห่งความรักนิรันดร์…!! ซึ่งบางคนยังคงขัดแย้งในใจว่า “หรือสุสานแห่งความตายของประชาชน?!?”
พระราชวังแห่งราชวงศ์โมกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น