บันทึกความทรงจำดีๆ ระลึก 100 ปี พระราชวังสนามจันทร์
ที่มา http://www.edtourcenter.com/scoop/scoop_100yearssanamjunpalace.htmหลังจากที่ได้ยินข่าวการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับงาน “ระลึก 100 ปี พระราชวังสนามจันทร์” มาระยะหนึ่ง ผมก็ตั้งใจว่าจะหาเวลาไปเที่ยวชมงานนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ (ตามคำเชิญชวนในสปอทโฆษณา อิอิ!) และผมก็เชื่อว่าคงมีท่านผู้อ่านอีกหลายท่านได้ไปชมงานนี้มาเช่นกัน
งานนี้จัดขึ้น เป็นเวลา 11 วัน คือวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมานี้เองครับ แต่ละวันก็จะมีกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจต่างๆ หมุนเวียน เปลี่ยนกันไป อาทิ การจุดพลุและดอกไม้ไฟ การแสดงดนตรี ทั้งที่เป็นวงโยทวาทิต และดนตรีสดบนเวที การแสดงนาฏศิลป รวมถึงการจัดแสดงงานศิลปะ์ต่างๆ เรียกว่าหากใครมีเวลาว่างไปคอยชมก็คงเก็บความประทับใจกลับบ้านได้ทุกวันเลยทีเดียว
ตัวผมเองยังรู้สึกเสียดายครับ กว่าจะเคลียร์ธุระต่างๆ เพื่อหาเวลาว่างไปชมงานก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายครับ แต่ไม่เป็นไรครับ ตั้งใจว่าจะไปก็ต้องไปครับ
ผมออกเดินทางในบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 2 ธันวาคม ออกจากกรุงเทพมหานคร ด้วยเส้นทางปิ่นเกล้า – นครชัยศรี มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครปฐม วันนี้รถค่อนข้างเยอะครับ มีติดบ้างเป็นระยะๆ และเข้าใจว่าเพื่อนร่วมทางส่วนใหญ่ น่าจะมีจุดหมายเดียวกัน
และแล้วผมก็เดินทางมาถึง “พระราชวังสนามจันทร์” ในช่วงหัวค่ำ และเป็นไปตามคาดครับ ด้านหน้าทางเข้างาน หนาแน่นไปด้วยผู้คน ที่รอซื้อบัตรผ่านประตู และอีกส่วนก็เข้าแถวเพื่อผ่านการตรวจสิ่งของ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความ
ปลอดภัย ซึ่งเป็นธรรมดาของการเข้าเขตพระราชฐานครับ หลังจากซื้อบัตรเรียบร้อยก็เข้าสู่บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ที่วันนี้ประดับประดา ตกแต่งไฟ อย่างสวยงามไปทั่วบริเวณ ทั้งพระที่นั่ง พระตำหนัก อาคาร เรือนต่างๆ รวมถึงต้นไม้ก็ได้รับการประดับไฟอย่างสวยงามจริงๆ ครับ
ในมุมหนึ่งของพระราชวังสนามจันทร์มีการจัดแสดงผลงานภาพเขียน
ในมุมต่างๆ ของพระราชวังสนามจันทร์ภาพพระราชวังสนามจันทร์ ที่ผมเห็นในวันนี้ ไม่ต่างจากในความทรงจำเก่าๆ ของผมเท่าไรนัก ซึ่งเป็นภาพความทรงจำในสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นประถม และยังจำอะไรไม่ค่อยได้ จำได้เพียงภาพ ของย่าเหล สุนัขผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดี (อิอิ! เชื่อว่าซื่อสัตย์กว่านักการเมืองบางคน)ขององค์พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ยืนท้าแดดลมอยู่หน้าอาคารหลังหนึ่ง ที่ดูคล้ายปราสาทเทพนิยายในการ์ตูนของวอลท์ดิสนีย์ ซึ่งก็คือพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์นั่นเอง
ซึ่งแม้เวลาผ่านไปนับสิบๆปี พระตำหนักแห่งนี้ก็ยังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และในวันนี้ผมยังได้ชม พระที่นั่ง และพระตำหนักอื่นๆ รวมถึงอาคารต่างๆ ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่นับอายุมาถึง ณ วันนี้ได้ 100 ปีแล้ว
ในโอกาสนี้ผมขอเล่าถึง ประวัติ และ ข้อมูลของพระราชวังสนามจันทร์คร่าวๆ พร้อมเก็บภาพบรรยากาศในงานมาฝาก
เล็กน้อย หากผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยด้วยครับ
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ประมาณ 1 กิโลเมตร โปรดเกล้าให้สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ มีพื้นที่ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา มีพระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการสร้าง ทรงพระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์” ใช้เป็นที่แปรพระราชฐานในสมัยรัชกาลที่ ๖ และใช้เป็นที่มั่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตกาณ์ของประเทศในสมัยนั้น เพราะพระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม และยังทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับซ้อมรบเสือป่า
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี องค์ประธาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดี วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์ ให้สำนักพระราชวัง
ปัจจุบันพระราชวังสนามจันทร์ เปิดให้เข้าชม พระที่นั่งพิมานปฐม, พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี, พระที่นั่งวัชรีรมยา, พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์, เทวาลัยคเณศร์, พระตำหนักชาลีมงคงอาสน์, พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์,
พระตำหนักทับขวัญ และเรือนบริวารต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
พระที่นั่งพิมานปฐม
เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างใน พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก มีช่องระบายลม และระเบียงฉลุลายไม้ที่เรียกว่า “ขนมปังขิง” อย่างงดงาม ภายในพระที่นั่งฯ ยังมีป้ายชื่อห้องปรากฏอยู่ (ป้ายเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖) เช่น ห้องชวนพัก ห้องพระบรรทม ห้องบรรณาคม ห้องพระภูษา ห้องสรง ห้องเกย ห้องเสวย ห้องพระเจ้า พระที่นั่งองค์นี้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ใช้เป็นที่ประทับก่อนขึ้นครองราชย์ รับรองพระราชอาคันตุกะและเสด็จออกให้ราษฎรเข้าเฝ้า ปัจจุบันภายในจัดแสดงสิ่งของมีค่า ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ ในวโรกาสที่สำคัญต่างๆ
ชั้นล่างภายในห้องชวนพัก แสดงรูปจำลองสิ่งก่อสร้างรอบพระราชวังสนามจันทร์ นครวัดจำลองทำด้วยเงิน ทูลเกล้าถวายโดยสมเด็จเจ้านโรดม สีหมุนี, รูปจำลองโลหะปราสาท และปราสาทพระเทพบิดรทำจากกระดาษ
ห้องจีน จัดแสดงชุดรับรองแขกจากประเทศจีน ทูลเกล้าถวายโดยรัฐบาลจีน ทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปมังกร
ห้องพระเจ้า เป็นหอพระประจำพระราชวังสนามจันทร์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลาย “เทพประณม” โดยรอบ ฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร นามเดิมจันทร์ จิตรกร กลางห้องประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตร จากห้องพระเจ้ามองออกไปทางทิศตะวันออก จะเห็นองค์พระปฐมเจดีย์ เทวาลัยคเณศร์เป็นแนวเดียวกันพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
เชื่อมต่อจากพระที่นั่งพิมานปฐม ออกไปทางทิศใต้ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น แบบตะวันตก ประดับลวดลายไม้ฉลุเหมือนกับพระที่นั่งพิมานปฐม ใช้เป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายใน ในสมัยนั้น ปัจจุบันภายในพระที่นั่งฯ ชั้นบนจัดแสดงห้องพระบรรทม ห้องทรงงานเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในสมัยก่อน
พระที่นั่งวัชรีรมยา
สร้างขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๔๖๐ (หลังจากที่สร้างพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์) โดยสร้างทางเชื่อมชั้นล่างให้ถึงกันซึ่งมองดูแล้วเหมือนพระที่นั่งแฝด ลักษณะทรงไทยก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น
มุงกระเบื้องเคลือบสี ทำนองเดียวกับหลังคาพระที่นั่งที่พระบรมมหาราชวัง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ราคสะดุ้ง ทางทิศใต้มุขเด็จมีชานชาลา เชื่อมต่อกับชานชาลาพระที่นั่งพิมานปฐม หน้าบันมุขเด็จแกะสลักรูปพระราชสานส์
ภายใต้วงรัศมี ที่มีกรอบล้อม ภายในประดับกระจกสีน้ำเงิน มีสาหร่ายรวงผึ้งห้อยลงระหว่างเสาหน้ามุขอย่างงดงาม หน้าบันทางด้านทิศตะวันออก มีลวดลายช้างเอราวัณ บนหลังมีสัปคับลายทองตามแบบช้างทรงของกษัตริย์ หน้าบันทางด้านทิศตะวันตก มีลวดลายเหมือนกับหน้าบันมุขเด็จแต่ใหญ่กว่า พระทวารและพระบัญชรพระที่นั่งทั้งสองชั้น ลักษณะคล้ายซุ้มเรือนแก้ว มีบันแถลงเสียบไว้ทำยอดวชิราวุธ ภายใน มีเลข ๖ อยู่ใต้มหามงกุฎ ล้อมลายกนก ลงรักปิดทองภายในพระที่นั่งฯ เพดานห้องทาสีแดงชาด ชั้นบนเป็นไม้แกะสลักดวงดาราลงรักปิดทองประดับกระจก ชั้นล่างเพดานห้องทาสีแดงชาดลงรักปิดทองเป็นลวดลายดวงดารา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้เป็นที่ประทับและทรงอักษรเป็นครั้งคราว ปัจจุบันชั้นบนจัดแสดงห้องบรรทม
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
เป็นโถงใหญ่หลังคาเชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา มีเครื่องประดับหลังคาเหมือนกัน หน้าบันทางทิศเหนือเป็นรูปจำหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพร ประทับอยู่ในพิมานปราสาทสามยอด พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ พระหัตถ์ซ้ายประทานพร แวดล้อมด้วยบริวารอันมีเทวดาและมนุษย์ห้าหมู่ ภายในมีเสานางจรัลทรงแปดเหลี่ยมทำเป็นลายกลีบบัวจงกลโดยรอบทั้งต้น พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ใช้สำหรับเป็นที่ประชุมเสือป่า ประกอบพิธีกรรม ซ้อมและเล่นโขนละครพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
คล้ายปราสาทขนาดย่อม แบบสถาปัตยกรรมเรอเนซองค์ของฝรั่งเศส ผสมผสานกับฮาลฟ์ทิมเบอร์ของอังกฤษ ทาสีไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนประกอบด้วยห้องพระบรรทม ห้องทรงอักษร ห้องสรง ชั้นล่างมี 1 ห้อง คือ ห้องรอเข้าเฝ้า ชั้นบนและล่างมีระเบียงโดยรอบทั้งสามด้าน (ยกเว้นด้านหลัง) ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม เสาใหญ่ทางกลมคล้ายเสาหอคอยของปราสาท สร้างใน พ.ศ. ๒๔๕๑
หลัง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงประทับที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์เป็นประจำ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการเสือป่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์
ฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานเชื่อมต่อกันระหว่าง พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
และ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
เป็นพระตำหนักที่สร้างด้วยไม้สักสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ มีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานเชื่อมต่อกัน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าให้สร้างใน พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบเช่นเดียวกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักนี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าให้ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน
พระตำหนักทับขวัญ
เป็นเรือนไทยที่สมบูรณ์แบบ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยพระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) ประกอบด้วยเรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง หันหน้าเข้าหากันทั้ง 4 ทิศ เรือนใหญ่ประกอบด้วย เรือนโถง เรือนครัว และหอนอน 2 หอ (หอนอนทางด้านทิศใต้เคยเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ ๖ มาก่อน) บริเวณกลางเรือนปลูกต้นจัน (ต้นไม้ประจำจังหวัดนครปฐม) เพื่อเพิ่มความร่มรื่นให้แก่เรือน
เทวาลัยคเณศร์
พระคเณศร์ หรือ พระพิฆเนศวร เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง เจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ การประพันธ์ ผู้ขจัดอุปสรรคทั้งมวล เทวาลัยคเณศร์ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งพิมานปฐมอนุสาวรีย์ย่าเหล
“ย่าเหล” เป็นสุนัขพันทาง หางเป็นพวงสีขาวด่างดำ ย่าเหลมีความเฉลียวฉลาดและจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวอย่างมาก จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นอย่างยิ่ง
ก่อนกลับในคืนนั้น ผมได้มีโอกาสชมพลุ และดอกไม้ไฟ เฉลิมพระเกียรติ ที่จัดแสดงได้อย่างอลังการ สวยงามจริงๆ ครับ
บริเวณสนามหญ้ารอบๆ เทวาลัยคเณศร์ มีผู้คนนั่งเฝ้ารอชมดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น