วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ชมงานสถาปัตยกรรมล้ำสมัยทั่วโลก ร่วมชิงชัย"สิ่งก่อสร้างแห่งปี 2011"

สถาปัตยกรรม หมายถึง อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสิ่งปลูกสร้างนั้น

ซึ่งมาจากการออกแบบของมนุษย์ ด้วยศาสตร์ทางด้านศิลปะ การจัดวางที่ว่าง ทัศนศิลป์ และวิศวกรรมการก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ใช้สอย

สถาปัตยกรรมยังเป็นสื่อความคิด และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมในยุคนั้นๆ อีกด้วย

ด้วยความเชื่อดังกล่าว ทำให้เกิดกลุ่มของผู้ที่อยู่ในแวดวงการออกแบบก่อสร้าง และสถาปัตยกรรม ร่วมกันจัดงาน "เทศกาลสถาปัตยกรรมโลก" (World Architecture Festival Awards 2011) ขึ้น

ไฮไลต์ของงานอยู่ที่การประกวดเพื่อชิงชัยรางวัล "อาคารแห่งปี 2011" โดยงานจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติบาร์เซโลนา เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยในปีนี้มีผลงานที่โดดเด่นเข้าร่วมมากมาย อาทิ


อาคารแอตโมสเฟียร์ - กัลกัตต้า, อินเดีย (Atmosphere)

โครงการอาคารที่พักอาศัยที่เมืองกัลกัตต้า อินเดีย อาคารสไตล์สถานีอวกาศที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ระดับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ต่อจากทัชมาฮาล กับความสูงที่โดดเด่นเสียดฟ้าถึง 100 เมตร


โอ่อ่าด้วยแรงบันดาลใจตามแบบประเพณีชาวฮินดู กับจำนวน ห้องพัก 80 ยูนิต และพื้นที่ระเบียงนอกชานขนาดใหญ่ ผสมผสานดีไซน์ของแผงตาข่ายสะท้อนแสงระยิบระยับ เพิ่มความหรูหรารองรับครอบครัวในยุคหลายเจเนอเรชั่นหลังนี้


พร้อมด้วยส่วนต่อเชื่อมอาคารสองหลังเข้าด้วยกัน ซึ่งสร้างในลักษณะไร้รูปทรง เรียกว่า "เดย่า" ซึ่งในภาษาเบงกาลีแปลว่า "เพื่อให้" ที่เป็นที่ตั้งของคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟขนาดย่อม สนามบาสเก็ตบอล รวมถึงสปา และเลาจ์สำหรับนั่งพักผ่อน


อาคารสำนักงานไทเป หนานกัง, ไต้หวัน (Taipei Nangang Office Tower)
ตึกเปลือกหอยนางรมของ "อาคารสำนักงานไทเป หนานกัง" ความสูง 18 ชั้น ผลงานจากแรงบันดาลใจของก้อนกรวดแม่น้ำ สร้างสรรค์ชิ้นงานสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่สื่อให้เห็นถึงความนุ่มนวลและสง่างามไปพร้อมๆ กับความแข็งแกร่งและตัวตนที่ชัดเจน



 


พิพิธภัณฑ์ผู้อพยพชาวลาตินอเมริกาแห่งท่าเรือไมอามี, สหรัฐอเมริกา (Miami Pier Museum of Latin American Immigrants)

อาคารพิพิธภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้แก่คนรุ่นปัจจุบัน และผู้อพยพทุกคนที่เดินทางมายังชายฝั่งแห่งนี้ในอดีต อาคารสร้างอยู่บนชายฝั่งหาดเซาธ์บีช เมืองไมอามี


รูปทรงแบบเกลียวของอาคารเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอารมณ์อันสับสนของผู้ที่กำลังจะเดินทางจากแผ่นดินแม่ของตน มายังดินแดนแห่งโอกาสแห่งใหม่ ลักษณะภายในอาคารที่เป็นพื้นที่ต่างระดับ ย้ำเตือนให้ผู้มาเยือนนึกถึงความพยายามและความยากลำบากที่ผู้อพยพต้องเผชิญ การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในสร้างขึ้นโดยอ้างอิงถึงประสบการณ์และความรู้สึกของผู้อพยพชาวลาตินระหว่างการเดินทางอันแสนหฤโหด




สำนักงานใหญ่ฟรีสแลนด์แคมพิน่า โฮจิมินห์, เวียดนาม (FrieslandCampina Head Quarter)

งานออกแบบบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมแห่งนี้  สะท้อนแนวคิดหลักของบริษัทที่มีแนวคิดที่มีความสดใหม่และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของการก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ แนวคิดในการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากโลโก้ของบริษัทที่ทำเป็นรูปน้ำนมที่กำลังถูกรินลงแก้ว ประกอบด้วยหลังคาที่ทำเป็นแนวลาดชันปูด้วยหญ้าสีเขียวบริเวณด้านบน


อาคาร 3 ชั้น มีขนาดพื้นที่ใช้สอยราว 6,500 ตร.ม. ผนังด้านนอกบุด้วยกระจก ซึ่งสะท้อนแสงธรรมชาติเข้าไปยังอาคารเพื่อลดการใช้พลังงาน ขณะที่หญ้าบริเวณดาดฟ้าอาคาร สามารถดัดแปลงเป็นพื้นที่ใช้สอยกลางแจ้ง ซึ่งสามารถซึมซับน้ำฝนเพื่อลดความร้อนภายในอาคาร ทั้งยังช่วยเป็นฉนวนกันเสียงและกันความร้อนได้ดี




ศาลาว่าการกรุงทาลลิน, เอสโตเนีย (Tallinn Town Hall)


เป้าหมายของโครงการนี้คือการสร้างพื้นที่เชิงรูปแบบและสัญลักษณ์ของเมืองแห่งใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างขอบเขตของความเป็นมนุษย์และความรู้สึกของความเป็นเมืองในยุคกลางเข้าด้วยกัน


กลุ่มอาคารแบ่งออกเป็นหน่วยงานต่างๆ 13 แห่ง ในลักษณะคล้ายหมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่สาธารณะและหอประชุม แต่ละหน่วยงานจะมีอาคารเป็นของตนเอง และเชื่อมต่อกันทั้งหมดอาคารใหญ่ที่สุดจะเป็นที่ตั้งของที่ทำการใหญ่ของเมือง สภาเมือง และหอประชุม ทุกอาคารจะเป็นอาคารที่ติดกระจกไว้โดยรอบ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการทำงาน ขณะที่ผู้ทำงานสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเก่าที่อยู่โดยรอบได้อีกด้วย



อาคารจีเอสไอ ทาวเวอร์, เม็กซิโก (GSI Tower)


อาคารดังกล่าวเป็นอาคาร 20 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ประกอบด้วยสำนักงาน โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ด้านบนสุดเชื่อมด้วยสะพาน 2 แห่งที่มีสวนในร่ม ผนังด้านหน้าอาคารด้านตะวันตก บุด้วยอาลูคาร์บอน เพื่อป้องกันแสงแดด และระบายความร้อนภายในอาคาร ขณะที่แสงจากธรรมชาติก็ช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ ขณะที่ผนังด้านตะวันตกบุด้วยกระจกโปร่งแสงและผิวด้านที่ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ด้านนอก ซึ่งรวมถึงทะเลแคริบเบี้ยน




กวางโจว โอเปร่า เฮาส์, จีน (Guangzhou Opera House)


กวางโจวโปเอร่าเฮาส์ ออกแบบโดย ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) สถาปนิกหญิงชื่อก้องโลกชาวอิรัก คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2011


กวางโจวโอเปร่า เฮาส์ กินเนื้อที่กว่า 70,000 ใจกลางนครกวางโจว โดยมีการเชื่อมต่อสัมพันธ์กับแม่น้ำเพิร์ล ซึ่งถ้ามองลงมาจะเห็นโอเปร่าเฮาส์ เป็นใจกลางเด่น สง่างาม ด้วยดีไซน์ที่ใช้ทั้งศิลปะ และเทคโนโลยีมาผสมผสาน ทำให้อาคารนี้จะมีอายุยาวนานนับสหัสวรรษ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของเอเชีย 


พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบาทูมี, จอร์เจีย (Batumi Aquarium)


รูปทรงอาคารได้รับแรงบันดาลใจจากก้อนหินที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเป็นรูปทรงกลมมน ที่อยู่บนชายหาดบาทูมี ที่อยู่ใกล้เคียงกัน และสามารถสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับท้องทะเลได้อย่างชัดเจน


พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยกลุ่มอาคารรูปทรงกลมมนจำนวน 4 หลัง ซึ่งแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแตกต่างกัน 4 ประเภท ทุกอาคารมีส่วนเชื่อมต่อกัน ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถเดินชมได้อย่างต่อเนื่อง


สะพานชีคห์ ซาเหย็ด - อาบู ดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Sheikh Zayed Bridge)


สะพานดังกล่าวถือเป็นสะพานแห่งที่สาม ที่เชื่อมเมืองอาบูดาบีที่ตั้งอยู่บนเกาะเข้ากับแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองตอบความเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต

รูปทรงโค้งรูปคลื่นของตัวสะพานมีความสูงทั้งสิ้น 60 เมตรเหนือตัวสะพาน ขณะที่สะพานอยู่เหนือระดับน้ำทะเลที่อยู่เบื้องล่างประมาณ 20 เมตร




อาคารเอ็นแอลเอฟ เบอร์ซ่า, ตุรกี (NLF Bursa)


อาคารรูปทรงริบบิ้นช็อกโกแลตพลิ้วไหว ออกแบบเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มสังคมชั้นสูงด้วยลานจอดเฮลิคอปเตอร์ บนดาดฟ้า กับร้านอาหารที่มอบวิวอลังการแบบ 360 องศา รวมถึงระบบรถไฟขนส่งและช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ ที่ผู้ออก แบบคาดหวังจะได้สานฝันสร้างผลงานชิ้นนี้ที่ประเทศตุรกี




สนามแข่งม้าอัล ชาคับ อารีนา - โดฮา, กาตาร์ (Al Shaqab Equestrian Arena)


สนามฟุตบอลกาตาร์ความจุ 500 ที่นั่ง กับเทคโนโลยีปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง เพื่อรองรับฟุตบอลโลก 2565 ตกแต่งตามประเพณีอาหรับด้วยเต็นท์ทะเลทราย พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน



โครงการส่วนต่อขยาย อาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติเวลลิงตัน, นิวซีแลนด์ (Wellington International Airport (The Rock))


โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสนามบินที่มีระยะเวลา 5 ปี ที่แบ่งออกเป็น 2 ระยะ เพื่อตอบสนองการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร โดยเมื่อสร้างเสร็จจะสามารถรับผู้โดยสารขาออกได้มากกว่าเดิมเกือบสองเท่า หรือคิดเป็นจำนวนผู้โดยสาร 1,000 คนต่อชั่วโมง


รูปทรงเหลี่ยมมุมของอาคารภายนอกได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะก้อนหินบริเวณชายฝั่งทะเลโดยรอบสนามบิน การตกแต่งภายใช้หล็กรูปทรงสามเหลี่ยมปิรามิด ซึ่งสื่อถึงวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา รวมถึงสิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์ของเมือง




โรงแรมเบลลา สกาย -กรุงโคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก (Bella Sky)


โรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมขนาด 814 ห้อง และเป็นโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย ประกอบด้วย 2 อาคาร ที่มีความสูงอาคารละ 75 เมตร ขณะที่ทั้งสองอาคารถูกสร้างให้เบี่ยงออกจากกัน โดยทำมุมเอียงประมาณ 15 องศา




ศูนย์ประชุมฮุ่ยโจว - กรุงปักกิ่ง, จีน (Huizhou Convention Center)


ศูนย์ประชุมฮุ่ยโจว ตอบสนองทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและการเป็นสัญลักษณ์ในฐานะศูนย์กลางชุมชนในย่านฮุ่ยโจว ตามแผนแม่บทพัฒนาย่าน Beijing Finance Street ของกรุงปักกิ่ง

รูปทรงของอาคารสื่อให้เห็นถึงรูปทรงเปลือกหอยในทะเล โดยเป็นอาคารทรงกลมรีที่มีขนาดไม่เท่ากัน เพื่อตอบสนองการจัดกิจกรรมต่างๆในหลายรูปแบบ 




สำหรับขั้นตอนของการประกวด ทีมคณะกรรมการจะแบ่งผลงานที่เข้าร่วมการแข่งขันออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่คือ

1.อาคารแบบเสร็จสมบูรณ์
2.การดีไซน์โครงสร้าง
3.นำเสนอโปรเจ็กต์แห่งอนาคต

โดยแต่ละหัวข้อยังแบ่งยิบย่อยออกเป็น 16 หมวดหมู่ แยกแยะตามรายละเอียดเชิงวิชาการ สำหรับงาน ′เทศกาลสถาปัตยกรรมโลก′ ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 และได้รับการตอบรับจากสถาปนิกทั่วโลกเป็นอย่างดี

บรรดากลุ่มผู้เข้าแข่งขันจึงมาไกลตั้งแต่ใต้สุดของโลกอย่างเกาะ แทสมาเนีย จนถึงประเทศนอร์เวย์ในพื้นที่ใกล้ขั้วโลกเหนือ
 
พร้อมเปิดโอกาสต้อนรับนักแข่งหน้าใหม่จากลิเบีย เฮติและกัมพูชา ที่เตรียมกระทบไหล่ประเทศเจนเวทีทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น สเปน และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย

สำหรับงานเทศกาลสถาปัตยกรรมโลก จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2551 สร้างปรากฏการณ์ให้แก่โลกแห่งการออกแบบอาคารเป็นอย่างมาก เรียกคะแนนความสนใจจากผู้เข้าประกวดที่หลั่งไหลมากกว่า 5,000 คน ในช่วงเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา

กับผลงานชิ้นเอกสะท้านวงการจนได้รับรางวัลอาคารแห่งปีอย่างมหาวิทยาลัยลุยจิ บอคโคนี ที่เมือง มิลาน ประเทศอิตาลี ออกแบบโดยสถาบันสัญชาติไอริช กราฟตัน อาร์คิเทกส์ ในปี 2551 หรือศูนย์แสดงดนตรีมาปุนกุบวา ที่แอฟริกาใต้ ออกแบบโดยปีเตอร์ ริช อาร์คิเทกส์ จากโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ คว้าแชมป์ปี 2552 และ "แมกซ์ซี" พิพิธภัณฑ์ศิลปะศตวรรษที่ 21 แห่งชาติ ประเทศอิตาลี โดยซาฮา ฮาดิด อาร์คิเทกส์ ขึ้นรับรางวัลเป็นผู้ชนะในปี 2553


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น